พระแม่อุมาเทวี



พระแม่อุมาเทวี
เทวีแห่งพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่


พระแม่อุมาเทวี... เจ้าแม่อุมา หรือ ปารวตี คือพระนามแห่งพระแม่ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด พระองค์ทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้หมั่นบูชาต่อพระองค์อย่างสม่ำเสมอ..!!!
อำนาจแห่งพระแม่อุมานั้น ยิ่งใหญ่หาสิ่งใดเทียบได้ พระองค์ทรงประทานชัยชนะเหนือศัตรู ประทานกำลังวังชาแห่งอิสตรี ทำลายสิ่งชั่วช้า ตลอดจนประทานบริวารและอำนาจในการปกครอง พระองค์ยังทรงประทานพรด้านความสมบูรณ์ ความอิ่มเอม ความผาสุขในการครองเรือน ครอบครัวที่เปี่ยมสุข ตลอดจนการคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
พระแม่อุมา ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ... เป็นชายาแห่ง พระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง พระตรีมูรติ พระแม่อุมาจึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ด้วย (ตรีศักติ หมายถึง พระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี) พระองค์มีวิมานสถิต ณ เขาไกรลาส เช่นเดียวกับพระศิวะเทพ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) มีทิพยรูปเป็นหญิงที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอย่างวิจิตร

พาหนะแห่งพระแม่อุมาเทวี คือ เสือ อันหมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม

ศาสตราวุธ แห่งพระแม่อุมาเทวีคือ
- ตรีศูล

เป็นสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และ
- ดาบ

คือสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด เป็นผู้ตัดสิน และอยู่เหนือผู้อื่น
พระแม่อุมาเทวี (เจ้าแม่อุมา) มีอวตารอยู่หลายปาง ปางที่สำคัญที่สุดอีก 2 ปางจากพระแม่อุมา คือ ปางพระแม่ทุรคา (ทุรกา) และ ปางพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี)                           
อ่านได้จากบทความตำนานพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลี ในบทต่อๆไป
อีกปางหนึ่งที่อยากแนะนำ แต่ไม่ค่อยมีคนไทยรู้จัก นั่นคือ ปางพระแม่อุมาตากี คือการอวตารของพระแม่อุมาเทวี ที่รวมเอาพระแม่อีก 2 พระองค์เข้าไว้ด้วย คือ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี ได้อวตารรวมเป็นร่างเดียวกัน เหมือนกับพระตรีมูรติ นิยมนับถือกันในหมู่ผู้นับถือนิกายศักติ หรือนิกายที่นับถือเฉพาะเทพสตรีทั้ง 3 พระองค์ว่ายิ่งใหญ่เหนือกว่า พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ อันเป็นเทพบุรุษสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

 


ตำนานพระแม่อุมาเทวี

ตามตำนานโบราณกล่าวกันว่า
"พระแม่อุมา " นั้นแต่เดิมเกิดขึ้นจากการที่พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างขวาลูบเบาๆ ที่กลางพระอุระ พระแม่อุมาจึงจุติขึ้นกลางทรวงอกของพระศิวะ บ้างก็กล่าวไว้ว่าพระแม่อุมาเทวีเป็นธิดาของ ท้าวหิมวัต และ พระนางเมนกา เทพผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาหิมาลัย แต่ในบางคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระอุมาเป็นธิดาของ พระทักษะประชาบดี และเป็นพี่น้องกับ พระแม่คงคา (พี่สาวของพระแม่อุมา) พระอุมาในภาคนั้นมีพระนามว่า พระสตี เป็นชายาของ พระมุนีภพ คือ พระศิวะ อีกภาคหนึ่ง
เรื่องราวในตอนนี้คงเป็นตอนก่อนกำเนิดเป็นพระแม่อุมาเทวี ซึ่งได้ปรากฏเป็นเรื่องเล่าขานกัน เริ่มต้นจากความจงรักภักดีด่อพระสวามี (พระศิวะ) โดยพระนางได้ใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้ไฟเผาไหม้ตนเอง
                        ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระศิวะ ทรงอวตารลงมาในภาคของ มุนีภพ แต่ก็ด้วยความที่พระองค์ทรงแปลงร่างอวตารลงมาในชุดนุ่มห่มแบบปอนๆ มอซอ และมีสังวาลสวมคอเป็นประคำโดยนำกระดูกมาร้อยต่อกัน ไว้ผมหนวดเครารุงรัง ชอบนอนตามป่าช้า ร่างกายมีกลิ่นตัวเหม็นสาบ (แตกต่างจากการแบ่งภาคอื่นๆ) ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างบารมี ด้วยการบำเพ็ญตน บำเพ็ญตบะ ซึ่งกาลต่อมาด้วยบุญกรรมที่สร้างสมกันมาแต่ก่อน ทำให้พระนางสตีมองเห็นรูปกายที่แท้จริงว่าพระมุนีภาพองค์นี้ก็คือ ภาคหนึ่งแห่งองค์พระศิวะผู้เป็นผู้ใหญ่ในสามโลก พระนางสตีจึงตกลงใจอยู่คอยรับใช้ดูแลในฐานะชายา ฝ่ายพระทักษะประชาบดีมิได้เห็นด้วยกับความคิดของพระนางสตีนัก แต่ก็มิได้ขัดขวางแต่ประการใด ก็มีความคิดที่มาได้ไม่ชอบใจในตัวของพระมุนีภพเลย กลับแสดงความรังเกียจในการกระทำ ทั้งรูปร่าง การแต่งกายของพระมุนีภพมาโดยตลอด

พระทักษะประชาบดีนั้นมีพระธิดามากมายนัก และก็มากด้วยราชบุตรเขยเช่นกัน เป็นต้นว่า พระจันทร์ พระยมราช และพระมุนีอีกจำนวน 11 องค์ ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิฤทธิ์บารมีทั้งสิ้น        
                          ฝ่ายบรรดาราชบุตรเขยต่างๆ ก็คอยเอาอกเอาใจผู้เป็นพ่อตาอยู่เป็นนิจตลอดมา เว้นก็แต่พระมนีภพผู้เป็นสวามีพระนางสตีเท่านั้น ที่ไม่เคยเข้ามาเอาใจเลย จึงเป็นเหตุผลอีกกรณี ที่ทำให้พระทักษะประชาบดียิ่งไม่พอใจมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก
                          จนกระทั่งวันหนึ่งพระทักษะประชาบดีต้องการจัดพิธียัญกรรม โดยพิธีการนี้ได้เชิญเหล่าเทพต่างๆ บนสวรรค์ พร้อมทั้งเหล่าราชบุตรเขยเข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ทุกองค์ แต่ก็ยกเว้นพระมุนีภพเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่ได้ให้เข้าร่วมพิธียัญกรรมในครั้งนี้ด้วย ด้านพระนางสตีเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงเข้าสอบถามกับผู้เป็นบิดาถึงเรื่องนี้ ว่ามีเหตุอันใดจึงไม่เชิญพระสวามีของตนให้เข้าร่วมพิธียัญกรรม ฝ่ายผู้เป็นพ่อแรกๆ ก็กล่าวถึงการกระทำ การแต่งกายของพระมุนีภพว่าไม่เหมาะสมและพูดจาดูหมิ่น ดูถูกพระมุนีภพในทางที่เสียหาย ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวได้กระทำต่อหน้าราชบุตรเขยองค์อื่นๆ ที่มาร่วมในงานนี้ แต่พระนางสตีก็อ้อนวอนต่อบิดา ให้พระสวามีของตนได้เข้าร่วมในพิธีนี้ จนพระทักษะประชาบดีเกิดความรำคาญเป็นยิ่งนัก จึงกล่าววาจาด้วยเสียงอันดัง ต่อหน้าผู้เข้ามาร่วมในพิธีด้วยความดูหมิ่น รังเกียจต่อพระมุนีภพยิ่งนัก จนในที่สุดพระนางสตีผู้จงรักภักดีต่อสวามีของตน สุดที่จะทนต่อไปได้ ในวาจาที่รับฟังจากพระบิดาตนเองที่กล่าวประจานพระมุนีต่อหน้าผู้อื่น
พระนางสตีจึงตัดสินพระทัยแสดงอิทธิฤทธิ์ เปล่งแสงเปลวไฟอันร้อนแรงจากภายในกาย จนเผาตนเองมอดไหม้ต่อหน้าพระบิดาและผู้ร่วมพิธี จนสิ้นชีพในที่สุด (บางคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระนางสตีกระโดดเข้ากองไฟในพิธี)
ฝ่ายพระศิวะในภาคพระมุนีภพ เมื่อได้ฟังคำเล่าบอกจาก พระฤๅษีนารท (ฤาษีนารอด) ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระชายาของพระองค์ทรงเศร้าเสียใจเป็นที่สุด จากความเศร้าที่ทรงมีอยู่นั้น จึงทรงดึงเส้นผมออกมาปอยหนึ่ง ก็บังเกิดเป็นอสูรร่างกายใหญ่โต มีฤทธิ์เดชมากมาย มีพันเศียร พันกร สวมประคำหัวกระโหลกและงู นามว่า อสูรวีรภัทร บางคัมภีร์กล่าววาอสูรวีรภัทรนี้แบ่งภาคโดยออกจากพระโอษฐ์ของพระศิวะ
แล้วพระศิวะจึงได้สั่งให้อสูรวีรภัทรไปยังพิธีที่จัดขึ้นและให้ทำลายพิธีนั้นให้สิ้นในที่สุด ฝ่ายอสูรวีรภัทรเมื่อรับฟังคำสั่งจึงตรงไปยังพิธีทันที พร้อมด้วยเหล่าสมุนยักษนับถัน เมื่อไปถึงจึงเข้าอาระวาดทำลายพิธี และบรรดาเทพทั้งหลายที่มาร่วมงานต่างก็หลบหนีทันบ้างไม่ทันบ้าง ก็พากันบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย โดยอสูรวีรภัทร เมื่อทำลายพิธีแล้ว จึงได้ประกาศในพิธีว่า นี่คือโทษที่ต้องได้รับจากพระศิวะ ส่วนพระทักษะประชาบดีบิดาของพระสตีได้ถูกอสูรวีรภัทรพ่นไฟใส่พระเศียรจนขาดกระเด็นมอดไหม้เป็นจุล และเมื่อหัวขาดแล้วอสูรวีรภัทรจึงนำหัวนั้นโยนเข้ากองไฟมอดไหม้ไปด้วยความแค้นที่ดูหมิ่นในศักดิ์ศรีของพระศิวะ เมื่อทกอย่างเสร็จตามคำบัญชาของพระศิวะ อสูรวีรภัทรพร้อมสมุนยักษ์จึงยกทัพกลับไปเข้าเฝ้าพระศิวะดังเดิม อสูรวีรภัทร พร้อมสมุนยักษ์จึงทัพกลับไปเข้าเฝัาพระศิวะดังเดิม
                        เหตุการณ์นี้ทำให้เหล่าเทพทั้งหลาย รวมถึงบรรดาราชบุตรเขยที่รอดชีวิตมาได้ พากันไปขอความช่วยเหลือจาก พระพรหม เพื่อให้ทรงแนะหาทางแก้ไขว่าควรจะทำเช่นไรจึงจะทุเลาความโกรธกริ้วของพระศิวะได้ เพื่อไม่ให้โลกถูกทำลายลงไป เพราะพระศิวะเป็นเทพผู้ทำลาย พระพรหมเมื่อได้ฟังแล้วจึงได้นำเหล่าเทพทั้งหลายนั้นไปเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาส เพื่อขอความเห็นใจและขมาในสิ่งที่เกิดขึ้น จนในที่สุดการเจรจาพูดคุยกันนั้น พระศิวะจึงยอมสงบศึกพร้อมกับช่วยชุบชีวิตเหล่าเทพที่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งนี้การชุบชีวิตนั้นก็รวมถึงพระทักษะประชาบดีผู้เป็นพ่อตาของพระองค์ด้วย แต่เศียรที่มอดไหม้ไปนั้นมิได้ทรงนำมาคืนให้ พระองค์ได้นำหัวแพะมาต่อให้กับพระทักษะประชาบดี เพื่อแสดงให้เหล่าเทพทั้งหลายได้เห็นความโง่ของพระทักษะประชาบดี แม้แต่รูปกายภายนอกจะเป็นเช่นไร ก็ไม่สมควรดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามผู้นั้นโดยมิได้ดูถึงเนื้อแท้และการกระทำที่ดีของเขาเลย
เมื่อเรื่องทุกอย่างจบลงด้วยดีแล้ว พระศิวะจึงมุ่งไปบำเพ็ญตบะ บำเพ็ญตนเป็นมุนีต่อในป่าหิมพานต์
เพื่ออุทิศกุศลให้กับพระนางสตี ผู้เป็นชายาของพระองค์ต่อไป...

กำเนิดพระอุมาเทวี
(ชายาแห่งพระมหาศิวะเทพ)


กล่าวต่อจากเนื้อหาที่พระนางสตีที่ได้สละชีวิตของพระนาง
เพื่อปกปัองศักดิ์ศรีแห่งพระศิวะเทพผู้สวามี ด้วยการใช้ไฟเผาไหม้ร่างกายตนจนสิ้นชีพ ในการต่อมา พระศิวะเทพจึงได้เข้าสู่การบำเพ็ญสมาธิ โดยมิได้ติดต่อผู้ใดเป็นระยะเวลานาน จนบรรดาทวยเทพทั้งหลายพากันเป็นห่วงถึงจักรวาล จึงได้รวมกันไปเข้าเฝ้าพระวิษณุเทพเพื่อขอให้หาหนทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว ชึ่งพระองค์ก็ได้กล่าวว่าคงต้องช่วยกันนั่งสมาธิส่งจิตถึงพระแม่ศักดิ-ศิวา ขอให้พระองค์ทรงอวตารแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์อีกครั้ง เพื่อให้พระศิวะทรงออกจากสมาธิกลับมาปกครองจักรวาลแห่งนี้
พระอุมา จึงถือกำเนิดในคืนที่ 9 เดือนมธุ (มีนาคม-เมษายน) ตั้งแต่แรกเกิดพระอุมาทรงเป็นที่รักยิ่งของทุกๆ คน จึงได้นามว่าพระปารวตี... ต่อมาเมื่อเติบใหญ่ พระอุมามีความตั้งใจยิ่งที่จะออกบำเพ็ญพรต เมื่อได้ศึกษาวิชาจากพระอาจารย์ต่างๆ
จนชำนาญเก่งกาจมีความสามารถระลึกชาติได้
(เมื่อเยาว์วัย พระฤาษีนารทได้ทำนายชะตาไว้ว่า พระอุมานั้นทรงมีลักษณะมงคลยิ่งนักและจะนำความสุขมาสู่ครอบครัว คู่ครองของพระนางจะมีลักษณะเป็นโยคีนุ่งห่มหนังเสือหนังช้าง!!) ดังนี้แล้ว ท้าวหิมวัตและพระนางเมนกาตระหนักดีว่าการทำนายของพระฤาษีนารท (พระฤาษีนารอด) แม่นยำยิ่งนัก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีหนทางใดที่จะนำพระอุมา ธิดาแห่งตนให้พบกับพระศิวะเทพได้ ด้วยว่าพระศิวะเทพทรงอยู่ในระหว่างการบำเพ็ญตนเข้าสมาธิ
แต่ก็ด้วยวาสนาของการเป็นคู่ครองกันในอดีตชาติ ในช่วงเวลาที่พระศิวะทรงเสด็จไปยังดินแดนอิษชิปรัสกะเพื่อทำสมาธิ ท้าวหิมวัตจึงทรงเสด็จเข้าเฝ้า กล่าวสรรเสริญขออุทิศตนเป็นทาสรับใช้ของพระศิวะเทพ จนพระองค์พอพระทัยยิ่งจึงลืมพระเนตรออกจากสมาธิ และกล่าวขอให้ท้าวหิมวัตช่วยจัดสถานที่นั่งสมาธิ ณ คงคาวัตวัณในแคว้นหิมาลัย และสั่งห้ามมิให้ใครเข้ามารบกวนในที่นั่นเป็นเด็ดขาด ท้าวหิมวัตจึงได้ทำตามพระประสงค์ จนรุ่งเช้าท้าวหิมวัตจึงพาพระอุมาให้นำผลไม้ถวายต่อพระศิวะ พร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้พระองค์ทรงรับพระประวัติเป็นข้ารับใช้ด้วย เมื่อพระศิวะลืมพระเนตร เห็นความงดงามของพระอุมา จึงเกิดความรักและพอพระทัยยิ่งนัก แต่ก็ทรงหักพระทัยเข้าสู่สมาธิโดยทันที
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ท้าวมหิมวัตจึงสวดอ้อนวอน เพื่อให้พระศิวะลืมพระเนตรอีกครั้งและกล่าวว่าในทุกๆ วันตนและบิดาจะมาเป็นผู้เคารพบูชาพระองค์ พระศิวะจึงกล่าวตอบกับท้าวหิมวัตว่า เหตุที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญสมาธิคือสตรี ซึ่งผู้บำเพ็ญตนที่ดีอาจถูกทำลายสมาธิลงได้ สตรีคือฐานแห่งความรักใคร่ความสำราญ สตรีจะเป็นผู้ทำลายสิ้น
พระอุมาจึงกล่าวแสดงความเคารพต่อองค์ศิวะ และทูลอย่างสุภาพว่า พระศิวะคือจ้าวแห่งสมาธิกรรมูฐานเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งจักรวาล ไม่มีการโอนเอนต่อพลังที่เหนือธรรมชาติ แล้วใยจึงเกรงกลัวต่อสตรีอย่างพระนางด้วย พระศิวะเมื่อได้ฟังจึงต้องยอมจำนนกับคำโต้ตอบ และได้อนุญาตให้พระอุมาและสหายของพระนางเข้าออกได้ เพื่อรับใช้ตามที่ต้องการ ส่วนพระอุมา ก็ได้เข้ารับใช้มหาเทพด้วยการล้างพระบาทและดื่มน้ำนั้นเป็นประจำ ถวายการรับใช้อย่างไม่ย่อท้อ พร้อมทั้งขับกล่อมบทเพลงแสดงความเคารพต่อพระศิวะเรื่อยมา
                                พระศิวะเทพปฏิบัติสมาธิด้วยโดยปฏิญาณไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ครองจะต้องเป็นโยคินีด้วย จึงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ฝ่ายฤาษีนารท จึงแนะนำให้พระอุมาบำเพ็ญตนที่คงคาวัตวัณเป็นเวลาสามพันปีเทพ โดยฤดูร้อนให้ก่อไฟรายล้อม และสวด "โอม นะมัส ศิวายะ" ส่วนในฤดูฝนให้นั่งบนผืนดินปล่อยให้กายชุ่มน้ำฝน และให้สำรวมจิตเป็นที่ตั้ง ในฤดูหนาวให้ประทับในน้ำเพื่อทำสมาธิต่อพระศิวะ ปีแรกให้ทานผลไม้ ปีต่อมาเป็นผักและใบไม้ ปีที่สามอดอาหารและทำสมาธิอย่างเดียว
สิ่งที่พระอุมาปฏิบัตินี้ พระศิวะเทพผู้มองเห็นการกระทำจึงพอพระทัยนักในฐานะโยคินี แต่พระองค์ต้องพิสูจน์ในความมั่นคงของพระอุมาด้วย จึงให้ฤๅษีเข้าทำลายความตั้งมั่นของพระอุมา ฝ่ายพระอุมาก็ทรงยึดมั่นต่อพระศิวะมิอาจเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของตนลงได้ จนพระศิวะแปลงเป็นพราหมณ์เฒ่ามากล่าวด้วยวาจาต่างๆ เพื่อให้จิตใจสั่นคลอน แต่ก็มิเป็นผล สุดท้ายพราหมณ์เฒ่าจึงกลับกลายเป็นพระศิวะเทพต่อหน้าพระอุมา และกล่าวคำรับนางเป็นคู่ครอง และได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรส พระศิวะและพระแม่อุมาจึงเป็นเทพคู่ครองกันแต่นั้นเป็นต้นมา...
การบูชาพระแม่อุมา
โต๊ะ หรือ แท่นบูชา
สำหรับพระแม่อุมาเทวี ควรปูด้วย ผ้าสีขาว สีทอง สีแดง สีเงิน (หากไม่มีผ้าสำหรับปู สามารถใช้สีทาได้)
ดอกไม้ที่พระองค์โปรด
 คือ ดอกไม้ที่มี สีเหลือง และ สีแดง โดยเฉพาะ ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ
ธูปหอม หรือ กำยาน
                     ไว้จุดเพื่อถวายกลิ่นหอมด้วย และสามารถใช้ เตาน้ำมันหอม (แบบอโรม่า) เติมน้ำมันหอมระเหยแล้วจุดเพื่อถวายกลิ่นหอมได้เช่นกัน
เทศกาลสำคัญแห่งการบูชาพระแม่อุมาเทวี
 คือ เทศกาลนวราตรี ตรงกับวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 จะมีการประกอบพิธีกรรมบูชาพระแม่อุมาเทวีในอวตารต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศอินเดียจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ไม่แพ้เทศกาลคเณศจตุรถี มีการถวายเครื่องสังเวยอย่างอลังการ สรงน้ำองค์เทวรูป สวดมนต์บูชาตลอดวันตลอดคืน มีการแห่องค์เทวรูปพระแม่อุมาไปรอบโบสถ์และรอบเมือง ผู้บูชาจะต้องทานอาหารมังสวิรัติ ผู้เคร่งครัดการบำเพ็ญจะถือศีลอดตลอดระยะเวลา 9 วัน
อาหารที่ถวาย
 ควรเป็นขนมที่มีรสชาติมัน ปราศจากเนื้อสัตว์ และไม่มีกลิ่นหอมแรงเกินไป สามารถนำขนมโมทกะ หรือขนมลาดู (ขนมชนิดเดียวกับที่ถวายพระพิฆเนศ) มาถวายก็ได้เช่นกัน ตลอดจนผลไม้ และธัญพืช

คาถาบูชาพระแม่อุมาเทวี
                    มีหลายบท ให้เลือกสวดบทใดบทหนึ่ง (หรือสวดทั้งหมด)
ข้อควรจำ : ก่อนการสวดบูชาพระแม่อุมาเทวี จะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ

- โอม เจ มาตา ดี
- โอม ชยะ มาตา ดีี
- โอม ไชย มาตา ที (หรือ ดี)
- โอม ชยะ ศรี ปารวตี มาตา
- โอม ไจ มาตา ปารวตี
- โอม มหาอุมาเทวี นมัส
- โอม มหาศักติ ปารวตี มาตา
- โอม ศรี มหาอุมาเทวี นะมะฮา
- โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา เจ นะมะฮา
- โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ทุติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ตะติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ

(คาถาบูชาทั้งพระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา)
- โอม โรคานะ เศษานะปะหัมสิตุษฎา
รุษตาตุกามาน สะกะลานาภีษะตาน
ตวามา ศริตานาม นะวิปันนะรานาม
ตวามา ศะริตาหะทยา ศระยะตาม ประยันติ ฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.siamganesh.com

2 ความคิดเห็น:

  1. โอม ศรีคเณศ สุรัสวตี กาลี อุมาลักษมีกานตัม เจ นะมะ ฮา

    ตอบลบ
  2. โอม ศรีม ฮรีม กลีม เกลา กัม กะ นะ ปัต ตะเย นะ มะฮา

    ตอบลบ